บริการสืบค้น

Custom Search
ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 33 จากตัวเมืองไปทางอำเภอวัฒนานครประมาณ 4 กิโลเมตร ทางซ้ายมือ ณ ปริมณฑลสวนกาญจนภิเษก ตำบลท่าเกษม ศาลหลักเมืองจัดสร้างตามแบบมาตรฐานของกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร รูปแบบเป็นปรางค์องค์ใหญ่กว้าง 6.60 เมตร สูง 19.10 เมตร และปรางค์ 4 ทิศโดยรอบ ภายในศาลประดิษฐานเสาหลักเมืองซึ่งเป็นไม้ชัยพฤกษ์ที่มีคุณลักษณะต้องตามโบราณราชประเพณี ขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้น 120 นิ้ว สูง 229 นิ้ว และแผ่นทองดวงเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2539 และมีการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นประดิษฐานในศาลเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2539 ศาลแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 และเป็นศูนย์รวมขวัญกำลังใจ ความสามัคคีในหมู่พสกนิกร ชาวสระแก้ว
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ในสวนสาธารณะสระแก้ว สระขวัญ ใกล้กับสำนักงานเทศบาลเมืองสระแก้ว ถนนสุวรรณศร ประมาณ กม.ที่ 246-247) เข้าซอยเทศบาล 2 เชื่อกันว่าน้ำในสระแห่งนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีประวัติว่าในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ได้รับมอบหมายจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ยกทัพไปปราบปรามความไม่สงบในกัมพูชา ขณะที่ยกทัพมาถึงเขตจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน ได้แวะพักที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ก่อนที่จะยกทัพไปตีเสียมราฐ และเมื่อยกทัพไปถึงก็สามารถจัดการความไม่สงบในเขมรได้สำเร็จสระแก้ว สระขวัญ จึงเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคลซึ่งเป็นที่มาของชื่อจังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้น้ำในสระแห่งนี้ยังเคยถูกนำไปใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกด้วย

นอกจากนี้ยังค้นพบหลักฐานความเจริญของอารยธรรมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้อย่างมากมาย มีทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผา เครื่องถ้วย และคูเมืองโบราณที่ยังเหลือร่องรอยปรากฏในปัจจุบัน เช่น จารึกพบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมอีก 2 หลัก ซึ่งในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊กก๊อกธมได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระศิวะ ดังข้อความในจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 1 ได้กล่าวถึงว่าในปีพุทธศักราช 1480 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้นำศิลาจารึกมาปักไว้ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม เพื่อประกาศห้ามเรียกข้าของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น แต่ให้ข้าของเทวสถานได้บำรุงรักษาและบูชาพระศิวลึงค์หรือรูปเคารพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานสด๊กก๊อกธมนี้ตลอดไป ส่วนจารึกอีกหลักหนึ่งก็ได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าอาทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งได้ทรงบูรณะโบราณสถานแห่งนี้จนสำเร็จพร้อมจารึกที่เกี่ยวกับอารยธรรมและศาสนาเป็นต้น จากจารึกและโบราณสถานที่พบนี้สามารถบ่งบอกให้เราทราบถึงระบบการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณบนผืนแผ่นดินสระแก้วแห่งนี้ เปรียบเสมือนมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนที่มีคุณค่าเป็นคุณประโยชน์ต่อการศึกษายิ่ง

จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,496,961 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น7 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด กิ่งอำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์

สระแก้วเป็นจังหวัดที่74 ของประเทศไทย เดิมมีฐานะเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) และในปี พ.ศ.2476 เมื่อมีการยกเลิกระบบเทศาภิบาล ปราจีนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัด สระแก้วจึงกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้แยกตัวออกมาจากปราจีนบุรี และได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536

จังหวัดสระแก้วมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับ 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่-ยุคโลหะ โดยมีการค้นพบวัตถุโบราณที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ ในยุคต่อมาก็มีการค้นพบโบราณวัตถุอีก เช่น ที่อำเภออรัญประเทศและอำเภอตาพระยา แสดงหลักฐานว่าสระแก้วเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละ- ทวารวดี มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะต่างๆ ปรากฏที่ปราสาทเขาน้อย เขารัง และช่องสระแจง เป็นต้น โดยเฉพาะจารึกรูปอักษรปัลลวะที่ปรากฏในบริเวณปราสาทเขาน้อยเขตอรัญประเทศซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรกที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 1180

สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 245 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ และอาณาจักรทวาราวดี โดยจะเห็นได้จากกลุ่มปราสาทโบราณที่มีมากมายอยู่ทั่วจังหวัดและโบราณวัตถุที่หลงเหลือ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองของแผ่นดินในอดีต ให้แก่คนรุ่นหลัง
นอกจากแหล่งโบราณสถานที่น่าศึกษาทางประวัติศาสตร์ จังหวัดสระแก้วยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา นอกจากนี้ยังมีแท่งดินประติมากรรมทางธรรมชาติอย่าง "ละลุ" ที่มีรูปลักษณะแปลกตา
สุดชายแดนอรัญประเทศสระแก้วเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดไปสู่ประเทศกัมพูชา เชื่อมการคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้เป็นเส้นทางเดียวกัน มีตลาดโรงเกลือที่เต็มไปด้วยของราคาถูกและสินค้ามือสองจากนานาประเทศเพื่อนบ้าน

link1

ศูนย์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทั่วไทย
กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ชุมพร ไทย พระนครศรีอยุธยา พังงา พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สงขลา สุพรรณบุรี นครราชสีมา กรุงเทพมหานครฯ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครนายก น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พะเยา พัทลุง เพชรบูรณ์ แพร่ ราชบุรี ลำปาง สตูล สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี ชัยภูมิ ตราด นครปฐม นนทบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ ภูเก็ต ระยอง เลย มุกดาหาร นครพนม ศรีสะเกษ หนองคาย อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เชียงราย ลำพูน ตรัง นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี ลพบุรี ชัยนาท จันทบุรี เพชรบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา อ่างทอง กำแพงเพชร นครสวรรค์ นราธิวาส พิจิตร